HONDA CITY TYPE Z
ริแรงด้วยเทอร์โบซูบารุ
ในบรรดารถแต่ละรุ่นของค่ายฮอนด้าที่ปล่อยออกมาขายนั้น จะเห็นว่ามีเพียง CIVIC3 ประตูที่ถูกนักเลงรถนำมาแต่งแรงกันมาก ส่วนรุ่นอื่นอย่าง ACCORD กับ PRELUDE นั้นดูจะมีน้อยคัน และยิ่งเป็นรุ่น CITY ด้วยแล้วแทบจะหายาก แต่ในที่สุดก็เจอเข้าจนได้กับเจ้า CITY TYPE Zที่พยายามปรับแต่งให้แรงขึ้น ในขณะที่ยังไม่กล้าหาญสลับเปลี่ยนเครื่อง อาศัยแค่ขุมพลังเดิมที่หันมาเพิ่มเทอร์โบเข้าไป ซึ่งก็สามารถถ่ายทอดพลังออกมาได้ดุดันพอตัว
แต่ถ้ามองกันเพียงภายนอกของ HONDACITY TYPE Z ปี 2001 คันนี้คงดูไม่ออก เพราะไม่ได้มีการตกแต่งให้รู้เลยว่าเป็นรถที่มีความแรงแต่อย่างใด โดย นายชลธัญญ์ จิวาลัย หรือ ปาล์ม ผู้เป็นเจ้าของ กลับมีความพอใจที่จะให้บอดี้รถดูมีสภาพเดิม ๆ ทั้งนี้เพื่อหลอกตารถคันอื่น แต่ในขณะเดียวกันกลับซุกซ่อนเทอร์โบซูบารุไว้ภายใต้ฝากระโปรงเพื่อเอาไว้เล่นซัดหนัก ๆ ประมาณสองครั้งต่อสัปดาห์และก็สามารถใช้งานมาได้เกือบปีแล้วโดยที่เครื่องยังไม่พัง
เครื่องเดิมแต่ลดแรงอัดใส่ปะเก็น
เพิ่มหัวฉีด 2 หัวแต่คุมด้วยกล่องฟ้า
เครื่องยนต์ที่ติดรถมานั้นรหัส B15B แบบ 4 สูบ ขนาด 1500 ซี.ซี. โดยไม่มีระบบ V-TEC เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นแบบซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (SOHC) 16 วาล์ว โดยถ่ายกำลังออกมาสูงสุดที่ 105 แรงม้า ที่ 6,400 รอบ/นาที ส่วนแรงบิดสูงสุด 13.7 กก.-ม. ที่ 4,600 รอบ/นาที และได้ทำการโมดิฟายเครื่องยนต์โดยการเปิดฝาสูบด้วยการขยายห้องเผาไหม้เพื่อลดกำลังอัดจากเดิม 9.4:1 ให้น้อยลง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสูบแตก พร้อมกับเปลี่ยนปะเก็นเหล็กด้วย
ในส่วนของระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นได้มีการเพิ่มหัวฉีดขึ้นมาอีก 2 หัว โดยฝังไว้ที่ท่อไอดี ซึ่งแต่ละหัวมีขนาดไม่เท่ากัน และจะทำการฉีดต่อเมื่อบูสต์ทำงานเท่านั้น ส่วนเรกูเลเตอร์ที่ใช้ปรับแรงดันน้ำมัน งานนี้ไม่จำเป็นต้องเล่นของมียี่ห้อ อาศัยใช้แค่ของติดรถก็พอได้ แต่ต้องมีเทคนิคในการเพิ่มแรงดันด้วยการตอกที่หัวของเรกูเลเตอร์ให้บุบลงไป ซึ่งตรงนี้เป็นวิธีของช่างเหน่ง จากไดรเวอร์มอเตอร์สปอร์ต ส่วนระบบจุดระเบิดได้เปลี่ยนมาใช้หัวเทียนของ NGK รุ่น IREDIUM NO.8 ที่มาช่วยให้การจุดระเบิดแม่นยำขึ้น โดยได้มีการติดตั้งกล่องเสริม EMENAGE ของ GREDDY เพื่อมาช่วยคุมองศาไฟจุดระเบิด พร้อมกับเป็นตัวช่วยคุมน้ำมันที่หัวฉีดเสริม แถมยังทำหน้าที่หลอกกล่อง ECU เพื่อไม่ให้ตัดรอบเวลาบูสต์มาอีกด้วย
แรงจัดด้วยเทอร์โบเล็กจากซูบารุ
โบลว์ออฟหัวจรวดแต่เวสต์เกตใช้ดี
และในการเพิ่มพลังให้กับเครื่องยนต์นั้น งานนี้ได้มีการติดตั้งเทอร์โบเข้าไป โดยได้เลือกเฟ้นเอาเทอร์โบยี่ห้อ IHI ที่มีขนาดเล็กของซูบารุมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับโบลว์ออฟวาล์วของ HKS รุ่นซีเควนเซียท หรือมักเรียกว่า หัวจรวด ซึ่งสามารถทำหน้าที่ในการระบายไอดีที่เหลือใช้ทิ้งไปได้เช่นกัน แต่ไม่ส่งเสียงดุดันนักในเวลาที่ถอนคันเร่ง ส่วนเวสต์เกตนั้นเป็นแบบกระป๋องติดมากับเทอร์โบพร้อมเดินท่ออากาศใหม่ และติดตั้งกรองเปลือยอย่างดี พร้อมด้วยอินเตอร์คูลเลอร์ขนาดเล็กที่ไปจับเอาของโตโยต้ามาใช้งานในการระบายความร้อนอากาศได้ดีทีเดียว
สำหรับเทอร์โบรุ่นนี้ โข่งหลังนั้นจะมีหน้าแปลนที่แยกออกมาเป็นสองรู โดยจะมีรูออกเป็นท่อไอเสีย กับอีกรูที่เป็นท่อเวสต์เกต จึงแตกต่างจากโข่งหลังรุ่นอื่น ๆ ส่วนใหญ่หน้าแปลนจะครอบรวมกัน ตรงนี้เลยทำให้ต้องจัดการเดินท่อเวสต์เกตไปที่หน้ารถ และสามารถส่งเสียงดังเร้าใจเช่นเดียวกับเวสต์เกตแยก ซึ่งบูสต์ได้ตั้งไว้ที่ 7 ปอนด์ และบูสต์จะทำงานประมาณเกือบ 3,000 รอบ เพียงแค่กดคิกดาวน์ลงไปบูสต์ก็จะสำแดงออกมาทันที ทำให้รอบเร่งได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงความเร็วประมาณ110-130 กม./ชม. จะเป็นช่วงความเร็วที่รู้สึกว่าจะหนืดเหมือนกับน้ำมันท่วมแต่พอเลยจากนั้นไปจะลื่นไหลไปจนเหยียบ 200 กม./ชม.ได้เหมือนกัน
สลับโช้กแต่เล่นสปริงโหลด H&R
เปลี่ยนดรัมเบรกเป็นดิสก์เบรก
ทางด้านระบบกันสะเทือนหน้าแบบโลเวอร์อาร์มสตรัท ส่วนระบบกันสะเทือนหลังแบบแทร็บอีซอยด์ลิงค์สตรัท โดยโช้กได้เปลี่ยนมาใช้ของ CITY รุ่น VTi โดยก่อนหน้านี้เคยใช้ของ BILSTIN ส่วนสปริงที่ทำงานร่วมกับโช้กนั้นได้อาศัยสปริงโหลดขดเขียวของ H&R ที่ช่วยซับแรงสะเทือนได้ดีทีเดียว ในขณะที่ล้อแม็กเป็นของ CIVIC DAIMENSION RX ขอบ 15 นิ้ว รัดด้วยยาง YOKOHAMA รุ่น S306 ขนาด 195/50R15
สำหรับระบบเบรกของรุ่นนี้ ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก อาศัยแค่เปลี่ยนผ้าเบรกรถแข่งของ NAP หรือ NATIONAL BRAKE แต่ด้านหลังนั้นเป็นดรัมเบรก จึงได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นดิสก์เบรกด้วยการยกมาทั้งแพเพื่อง่ายต่อการติดตั้ง ซึ่งเป็นของ CITY รุ่น VTi เลยมั่นใจในประสิทธิภาพของการหยุดรถมากขึ้น
มีแค่เกจวัดกับเทอร์โบไทเมอร์
ติดโซนี่เล่นลำโพงคู่หลังแพงน่าดู
เข้ามาภายในรถ ดูแล้วมีการตกแต่งเพียงเล็กน้อยจริง ๆ พวงมาลัยเป็นของเดิม โดยมีเกจวัดบูสต์อยู่เพียงตัวเดียวติดอยู่ที่คอพวงมาลัย เป็นผลิตภัณฑ์ของ BLITZ หน้าขาว รุ่น RACING METER iD เพื่อไว้ทำหน้าที่ในการวัดค่าของบูสต์เทอร์โบ ซึ่งรุ่นนี้มีขนาดเล็ก ติดตั้งง่าย ที่สำคัญมีไฟขาวซึ่งช่วยให้มองเห็นชัดขึ้น ตามมาด้วยเทอร์โบไทเมอร์เป็นของ GREDDY ที่สามารถตั้งให้ดับเครื่องได้สูงสุด 3 นาที
ในส่วนของเครื่องเสียงได้อาศัยฟรอนต์เอนด์ของ SONY รุ่น CDX-M610 ในแบบซิงเกิลซีดี เพื่อขับลำโพงหน้าขนาด 5 นิ้ว ของบอสตัน จำนวน 2 ตัว ส่วนลำโพงคู่หลังในแบบ 6x9 ที่ฝังอยู่แผงด้านหลังนั้นเป็นยี่ห้อเซอร์วินเวก้า เป็นลำโพงนอกที่มีราคาแพงสุด ที่ขายกันอยู่คู่ละ 60,000 บาท
เป็นสเตปการแต่งของ CITY ที่อาจจะไม่หวือหวานัก แต่แค่เทอร์โบลูกเล็กๆ ก็สามารถสร้างความแรงขึ้นมาได้ไม่น้อยทีเดียว
ผลงานการตกแต่งเป็นของ DRIVER MOTORSPORT ซอยจุฬา9 โทร.0-2215-5569,0-1635-3427